6 สัญญาณ ที่แสดงถึงทีมวิศวกรที่ไร้คุณภาพ

การทำงาน

6 สัญญาณ ที่แสดงถึงทีมวิศวกรที่ไร้คุณภาพ - EngineerJob.co

การทำงานเป็นทีม แน่นอนว่าผลลัพธ์นั้นก็ย่อมมีผลกระทบต่อทุกคนในทีม โดยเฉพาะผู้นำ หรือหัวหน้างาน เพราะจะเป็นตัวชี้ว่าคุณมีคุณสมบัติในการนำลูกทีมได้ดีแค่ไหน และลูกทีมมีความสามารถที่จะร่วมงานกับทีมได้มากแค่ไหน ซึ่งกว่างานจะสำเร็จก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเจอปัญหามากมาย หากทีมงานของคุณมีคุณภาพก็จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ แต่หากบางทีมที่ยังหาทางออกไม่ได้ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นทีมงานไร้คุณภาพเสมอไป  6 ข้อนี้จะเป็นจุด “Check Point” ข้อบกพร่องที่หลายๆ คนอาจเคยเจอ ซึ่งจะบอกว่าทีมงานของคุณนั้นมีคุณภาพพอหรือไม่..

6 ต่างคนต่างเดิน

ลูกทีมแต่ละคนอาจจะยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งอาจจะยังไม่เข้าใจถึงจุดประสงค์หลักของงาน หรือมีความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากที่หัวหน้าทีมคิด จึงทำให้ไม่มีแรงผลักดันในการทำงานนั้นๆ การที่สมาชิคในทีมไม่เปิดใจรับฟังความเห็นของหัวหน้า หรือหัวหน้าไม่รับฟังความเห็นของลูกทีม เป็นปัญหาหลักของปัญหานี้ ควรเปิดโอกาสให้กันและกัน และหากิจกรรมทำร่วมกันเพื่อจะได้สนิทแล้วเข้าใจกันมากขึ้น

5 ตัดสินใจไม่ได้

หากสมาชิคในทีมยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในขั้นตอนการตัดสินใจมากเกินไป จะทำให้การตัดสินใจไม่เฉียบขาด และไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งๆ นั้นอาจจะถูกผลักดันมาจากทางหัวหน้าทีมอยู่ซ้ำๆ เช่น “ถ้าพลาดคุณโดนไล่ออกนะ” จึงทำให้ลูกทีมยิ่งเครียด และกลัวที่จะตัดสินใจ

อีกสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ตัดสินใจไม่ได้คือการที่ลูกทีมมีข้อมูลไม่เพียงพอ การเสนอข้อมูลใหม่ๆ หาข้อมูลที่เป็น Secondary Data หรือ Case Study ใหม่ๆ จะทำให้ลูกทีมได้ลองคิดนอกกรอบแทนที่จะย้ำคิดย้ำทำอยู่ในจุดเดิมๆ

4 สื่อสารไม่ได้เรื่อง

การสื่อสารนั้นแทบจะถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานเป็นทีมเลยก็ว่าได้ จุดที่เป็นปัญหาของทีมส่วนใหญ่คือ

  1. สื่อสารมากเกินไป: ในช่วงเวลาประชุม สิ่งที่สำคัญพอๆกับการพูดถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น คือขั้นตอนการการฟัง และคิด หากต่างคนต่างแย่งกันพูด จะทำให้จบการประชุมไม่ลง และไม่ได้ข้อคิดใหม่ๆ กลับไป
  2. สื่อสารน้อยเกินไป: เงียบเกินไปก็ไม่ดีเพราะสมาชิคในทีมจะไม่สามารถรับรู้ถึงปัญหาที่คุณเจอ หรือวิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่คุณได้ทดลองใช้และประสบผลสำเร็จ ซึ่งมีส่วนในการทำให้โปรเจคเดินช้าลง

3 เครียดตลอดเวลา

การเครียดไม่ได้จะทำให้งานเดินได้เร็วขึ้นเลยแม้แต่นิดเดียว แต่กลับทำให้ได้ผลลัพธ์ไม่ 100% แถมยังทำให้ทีมงานล้าจากการทำงานในบรรยากาศที่เครียดเกินไป จึงเป็นผลกระทบแบบลูกโซ่ไปในทุกๆ วันของการทำงาน หัวหน้างานที่ดีไม่ควรทำให้ลูกทีมยิ่งเครียด เพราะในส่วนของเนื้องานด้านวิศวกรรมมันก็มีความเครียด และความกดดันในตัวของมันอยู่แล้ว

2 ปัญหาในทีม และการโยนความผิด

ทุกคนมีโอกาสในการตัดสินใจผิดพลาดเหมือนกันหมด ซึ่งหากลูกทีมทำงานพลาด หัวหน้าทีมและเพื่อนๆ ไม่ควรโยนความผิดให้คนใดคนหนึ่ง แต่ทั้งทีมควรเข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยทันที และหาว่าข้อผิดพลาดอยู่ที่ไหน พร้อมกับเรียนรู้ข้อผิดพลาดนั้นไปด้วยกัน การที่ตอกย้ำความผิดมีแต่จะให้งานไม่พัฒนา และยังตัดกำลังใจในการทำงานอีกด้วย

1 ผู้นำขาดคุณภาพ

ผู้นำทีมที่ดีควรพูดถึง Vision (วิสัยทัศน์) และเป้าหมายของโปรเจค แก่ทีมงานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันให้ทีมงานเกิดคุณภาพ การบริการแบบนี้เรียกว่า Vision Driven คือการขับเคลื่อนทีมด้วยวิสัยทัศน์ ซึ่งจะเหมาะกับการบริหารวิศวกรมากกว่าการบริหารแบบ จู้จี้จุกจิก และที่สำคัญ หัวหน้าทีมควรมีสมาชิคมือขวาอย่างน้อยหนึ่งคนที่รู้เรื่องของโปรเจคดีที่สุด และพร้อมที่จะช่วยเหลือลูกทีมทั้งหมดเมื่อไหร่ก็ตามที่หัวหน้าทีมไม่ว่าง แต่อย่างไรก็ตาม หัวหน้าทีมก็ควรที่จะลงมาใกล้ชิดกับทุกคนในทีม เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงรายละเอียดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตาม 5 ข้อด้านบน


Image Designed by Freepik

ใส่ความเห็น

Required fields are marked *