6 Soft Skills ที่จำเป็นที่สุด สำหรับวิศวกร

การพัฒนาตัวเอง

6 Soft Skills ที่จำเป็นที่สุด สำหรับวิศวกร - EngineerJob.co

Soft Skills คือความสามารถที่เป็น Non-Technical Skills ซึ่งเป็นตัวเสริมความสามารถด้าน Techinical Skills (AutoCAD, Aspen Plus, C++) หรือเรียกว่า Hard Skills ของคุณให้เด่นยิ่งขึ้น หากใครยังไม่ค่อยเข้าใจว่าคืออะไร ให้ลองไปอ่านบทความก่อนหน้านี้ Soft Skills คืออะไร? ทำไมถึงสำคัญต่อสายงานวิศวกรรม?

หากวิศวกรมีความสามารถที่เป็น Hard Skills อย่างเดียวโดยที่ไม่มีความสามารถด้าน Soft Skills เลย ก็จะยากต่อการเติบโตในสายงานนั้นๆ เพราะมันคือความสามารถที่จำเป็นมากๆ สำหรับตำแหน่งที่มีการบริหารด้านคนและโปรเจคเข้ามาเกี่ยวข้อง

เราจึงสรุปมาให้ 6 Soft Skills ที่สำคัญ และจำเป็นที่สุดสำหรับวิศวกร แต่ละอย่างคืออะไร และสำคัญอย่างไร ไปลองดูกัน

1. Problem Solving

การแก้ไขปัญหาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับวิศวกร จริงอยู่ว่าใครๆ ก็แก้ปัญหาได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ “แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ยิ่งไปกว่านั้น บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าปัญหาจริงๆ คืออะไร จึงทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ ไม่ตรงจุด 

การแก้ไขปัญหาที่ดีนั้นควรจะสรุปออกมาให้ได้ก่อนว่าปัญหาจริงๆ คืออะไร จุดประสงค์ที่ต้องการจริงๆ คืออะไร ซึ่งควรผ่านการคิดและคัดกรองอย่างเป็นขั้นตอน หาหลายๆ Solutions และเลือกว่า Solutions ไหนที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์สูงสุด โดยใช้ทรัพยากร (เช่น แรงงาน ค่าใช้จ่าย และเวลา) ต่ำที่สุด ดังนั้นอีกความสามารถที่จำเป็นคือ Decision Making Skill (ความสามารถในการตัดสินใจ) ซึ่งนี่คือตัวบ่งบอกว่าใครเป็นนักแก้ปัญหาที่เก่งกว่า

2. Decision Making

ความสามารถในการตัดสินใจ หลายคนแอบขำว่ามันมีคนที่ไม่มีความสามารถด้านนี้ด้วยหรอ? จริงๆ แล้วมีอยู่เยอะมากแต่ไม่ค่อยรู้ตัว และหนึ่งในนั้นอาจเป็นคุณก็ได้ การตัดสินใจในที่นี้ไม่ใช่แค่ว่า “เที่ยงนี้จะไปกินอะไรดี?” อันนี้เด็กเกินไป แต่มันจะเป็นการตัดสินใจในเรื่องงาน หรือเชิงธุรกิจ เช่น

ตัวอย่างปัญหา: ตอนนี้โปรเจคที่คุณกำลังบริหาร ดำเนินการไปแล้ว 1 ปี ขาดทุนไปแล้ว 200 ล้านบาท

ที่นี้ก็อยู่ที่ความสามารถในการแก้ปัญหาของแต่ละคน ต้องมาดูว่าขาดทุนเพราะอะไร? มีปัจจัยภายใน/ภายนอกอะไรบ้าง? หากหยุดจะเกิดอะไรขึ้น? แล้วหากทำต่อ จะมีโอกาสสำเร็จแค่ไหน?  จากที่ดำเนินการมา 2 ปี มันส่งผลดีต่อบริษัทบ้างหรือไม่? เมื่อได้ข้อมูลเพียงพอ ทีนี้ก็ต้องตัดสินใจว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

การตัดสินใจ: “ดำเนินการต่อ เพราะปัญหาเกิดจากปัจจัยภายในบริษัท ปีต่อไปสามารถแก้ไขได้” หรือ “หยุดโปรเจคชั่วคราว เพราะโปรเจคนี้ไม่ได้ตอบสนองความต้องการลูกค้าอย่างที่คิด ต้องทำวิจัยตลาดใหม่”

ซึ่งคุณต้องทำการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล และดำเนินการต่อไปอย่างแน่วแน่ เพราะหากคุณแก้ปัญหาไม่ได้ และตัดสินใจไม่ได้ สุดท้ายเจ้านายก็จะเป็นคนตัดสินใจเชิญคุณออกจากบริษัทเอง

3. Leadership

การเป็นผู้นำไม่ได้หมายความว่าการไปสั่งคนอื่นเพื่อให้คนอื่นทำตาม ความคิดแบบนี้เป็นสิ่งที่ผิด และอาจส่งผลให้ทีมแตกแยกได้ การเป็นผู้นำในที่นี้หมายถึงเป็นผู้นำด้านความคิด เป็นผู้ขับเคลื่อนทีมไปข้างหน้าด้วยการสนับสนุนลูกทีมในด้านต่างๆ สร้างแรงบันดาลใจ และกระตุ้นในเชิงบวก รวมไปถึงความสามารถในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และการรับฟังความเห็นของคนในทีม ซึ่งการรับฟังเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะทำให้ได้รู้ว่าคนในทีมกำลังคิดอะไร รู้สึกอะไร

4. Communication

ไม่ได้หมายถึงความสามารถในการสื่อสารภาษาต่างๆ  แต่เป็นการสื่อสารที่ทำให้คนอื่นเข้าใจง่าย และชัดเจนถึงจุดประสงค์ เช่นต้องการให้เค้าทำอะไร หรือต้องการความช่วยเหลืออะไรจากเค้า หลายครั้งที่เจอการสื่อสารไม่เคลีย ใช้ศัพท์ยากเกิน หรือทับศัพท์ภาษาอังกฤษ (ซึ่งสำเนียงคนที่พูดก็ใช่ว่าจะเป๊ะ) สุดท้ายงานออกมากลายเป็นคนละเรื่อง ดังนั้น ใช้ภาษาที่ง่าย และบอกถึงสิ่งที่คุณต้องการให้ชัดเจน ถ้าจะให้ดี ส่งอีเมลตามไปคอนเฟิร์มหลังจากการพูดคุยจะเป็นการสรุปที่ดีที่สุด และทำให้มั่นใจว่างานจะไม่หลุด Scope

5. Negotiation

จริงๆ การต่อรองเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่เดินเข้าออฟฟิศด้วยซ้ำ (ต่อรองเงินเดือน) ซึ่งเมื่อผ่านการทำงานไปเรื่อยๆ การต่อรองมันก็จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เช่นคุณต้องการงบเพิ่มในการทำโปรเจค หรือคุณต้องการเวลาเพิ่มสำหรับงานชิ้นนี้ คุณก็ต้องไปต่อรองกับหัวหน้า ซึ่งจะต่อรองได้ หรือไม่ได้ ก็อยู่ที่ความสามารถส่วนบุคคลว่าจะต่อรองอย่างไรให้ Win-Win และไม่เกิดปัญหากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

หากใครได้เรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยา หรือหลักการทำงานของสมองคนที่ส่งผลต่อพฤติกรรม และการตัดสินใจในด้านต่างๆ ก็จะได้เปรียบในการโน้มน้าว หาโอกาส และสร้างแรงกระตุ้นไปที่คนๆ นั้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการต่อรองให้สำเร็จ

6. Teamwork

งานของวิศวกรล้วนแล้วแต่ต้องทำงานเป็นทีม ในการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ ไม่ควรกำหนดว่าใครคือผู้นำใครคือผู้ตามตลอดเวลา ทางที่ดีคือแต่ละคนควรรู้ว่าตอนไหนควรฟัง ตอนไหนควรนำ ตอนไหนควรตาม เพราะไอเดียดีๆ ไม่ได้เกิดขึ้นจากคนๆ เดียว คนเป็นหัวหน้าทีมควรเปิดโอกาสให้ลูกทีมแสดงความคิดเห็น หรือได้ลองเป็นผู้นำ รับผิดชอบในโปรเจคเล็กๆ ความเสี่ยงต่ำๆ เพื่อให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมและมีความสำคัญ

6 ความสามารถนี้ถือเป็น Soft Skills ที่สำคัญมาก ทีนี้มาลองดูกันว่าคุณมีข้อไหนแล้วบ้าง หรือจุดไหนบ้างที่ยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม แสดงความคิดเห็นได้ด้านล่าง หรือทำแบบสอบถามได้ที่…


Image: Designed by Freepik

ใส่ความเห็น

Required fields are marked *