ทำงานหลายอย่างพร้อมกัน Multitasking ยังไงให้มีประสิทธิภาพ - EngineerJob.co
การ ทำงานหลายอย่างพร้อมกัน หรือ Multitasking หากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง เพราะจริงๆ แล้ว การทำงานหลายอย่างพร้อมกันอาจทำให้คุณเสียเวลามากกว่าเดิม! แต่ในความเป็นจริง ยิ่งงานในสายงานวิศวกรแบบพวกเราแล้ว อาจเลี่ยงการทำ Multitasking ไม่ได้ แต่มันก็ยังพอมีวิธีที่จะทำให้ Multitasking มีประสิทธิภาพอยู่ แต่ถ้าใครลองแล้วไม่เวิร์ค หรือไม่ถนัด Multitasking ให้หยุดเลยนะครับ อย่าฝืน เพราะปัญหาที่ตามมาอาจจะแย่กว่าที่คุณคิด ยังมี วิธีเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำหรับวิศวกร อีกมากมายให้คุณได้ลองนำไปใช้
ทำไมการ ทำงานหลายอย่างพร้อมกัน ไม่ค่อยเวิร์ค
มารู้จักสมองของเรากันแบบคร่าวๆ ก่อนดีกว่า นักจิตวิทยา Art Markman บอกว่าโดยธรรมชาติสมองของเราไม่ได้ทำงานแบบ Multitasking อยู่แล้ว แต่สมองของเราจะทำงานแบบ Time-sharing หมายถึงสมองจะทำงานโดยโฟกัสทีละเรื่อง เมื่อเรื่องหนึ่งจบ ก็ค่อยไปโฟกัสอีกเรื่องหนึ่ง แบ่งๆ เวลากันไปในแต่ละเรื่อง การที่เราทำงานแบบ Multitasking คือการสั่งให้สมองเปลี่ยนการโฟกัสอย่างรวดเร็ว ไปๆ มาๆ ซึ่งทำให้สมองทำงานมากขึ้น เสียพลังงานยิ่งขึ้น และสุดท้าย งานของคุณโดยรวมจะไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากสมองจะเริ่มเหนื่อยล้า
การทำงานแบบ Multitasking ให้เวิร์ค
ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถจัดการงานหลายอย่างพร้อมกันได้ หากใครรู้ตัวว่าตัวเองไม่ถนัด อย่าฝืนเป็นอันขาด นอกจากจะทำให้คุณเครียด เหนื่อย ล้า ยังจะส่งผลกระทบกับตัวงาน คุณภาพของงาน และยังกระทบไปยังเพื่อนร่วมงาน แต่หากคุณคิดว่าตัวเองน่าจะ Handle ได้ หรืออยากลองดู แนะนำให้ลองทำวิธีนี้ดู
1. จดทุกครั้งก่อนเปลี่ยนงาน
อย่างที่บอกว่าสมองของเราทำงานแบบ Time-sharing การเปลี่ยนงานไปๆ มาๆ จะทำให้สมองใช้พลังงานเพิ่มขึ้น และใช้เวลาในการโฟกัสเรื่องใหม่ๆ หรือกลับมาโฟกัสเรื่องเดิมที่ทำก่อนหน้านี้ การจดบันทึกก่อนที่จะเปลี่ยนงานจะเป็นการช่วยลดการทำงานของสมอง ช่วยให้สมองใช้พลังงานในการกลับมาโฟกัสเรื่องเดิมท่ีทำก่อนหน้านี้น้อยลง
เช่น หากคุณกำลังทำงาน A แล้วมีงาน B มาแทรก ก่อนที่จะไปดูงาน B ให้จดไว้ก่อนเลยว่า ตอนนี้งาน A ทำถึงไหน แล้วกำลังจะทำอะไรต่อ เมื่อคุณจัดการงาน B เสร็จ กลับมาอ่านก็จะได้เข้าใจเลย จะช่วยลดการใช้เวลาในการ Refocus ของสมอง
2. แบ่งความสำคัญของงาน
บางครั้งงานที่เข้ามาแทรกอาจจะไม่ได้สำคัญเสมอก็ได้ หากคุณทำงาน A อยู่ แล้วงาน B เข้ามาแทรก ดูก่อนเลยว่างาน B สำคัญแค่ไหน และ ด่วนแค่ไหน .. หากสำคัญไม่เท่างาน A และไม่ด่วน ก็จัดการงาน A ให้เรียบร้อยก่อน แต่หากด่วนมาก (ไม่ว่าจะสำคัญ หรือไม่สำคัญ) ก็ลองใช้วิธีการจดก่อน แล้วค่อยไปทำงาน B .. วิธีการแบ่งความสำคัญเป็นการบริหารเวลาที่มีประโยชน์มากๆ ควรนำไปใช้ทันที
3. ทำงานที่เกี่ยวข้องกันพร้อมกัน
การที่เราให้สมองไปโฟกัสงานนู้นทีงานนี้ทีจะทำให้สมองล้า และใช้เวลาในการกลับมาโฟกัสในแต่ละงาน ซึ่งจะทำให้คุณเสียเวลามากขึ้น อีกวิธีก็คือ ก่อนทำงาน ลิสต์มาก่อนเลยว่าเรามีงานอะไรบ้าง แล้วสามารถแบ่งกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกันได้หรือไม่ หากได้ก็ลองแบ่งดูเลย เพราะมันจะช่วยให้สมองไม่ต้อง Refocus อยู่ตลอดเวลา เช่น มีงาน A งาน B และงาน C ที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งต้องติดต่อขอข้อมูลจากคนๆ เดียวกัน ก็ติดต่อขอข้อมูลสำหรับงาน A, B และ C ไปพร้อมกันทีเดียวเลย
การทำงานหลายอย่างพร้อมกันไม่ได้มีประสิทธิภาพเสมอไป เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง แต่หากเลี่ยงไม่ได้ วิธีเหล่านี้อาจช่วยคุณได้ ซึ่งก็อยู่ที่ความสามารถส่วนบุคคล แต่เท่าที่ได้ทดลองดู ข้อที่ 1 และ ข้อที่ 2 ค่อนข้างเวิร์คเลยทีเดียว ส่วนข้อที่ 3 จะเหมาะกับบางงาน ต้องทดลองดูตามความเหมาะสม เพราะหากต้องมาฝืนคิดว่างานอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกันโดยที่เรายังนึกภาพงานทั้งหมดไม่ออก อาจจะทำให้เสียเวลาได้
แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นวิศวกรที่ถนัดเรื่อง Multitasking หรือไม่ ก็ยังมี งานวิศวกร มากมายที่เหมาะกับความสามารถเด่นๆ ของคุณ พวกเรา EngineerJob ยินดีให้คุณ สร้างโปรไฟล์ เพื่อเปิดโอกาสรับข้อเสนองานดีๆ ตลอดเวลาครับ