5 เทคนิคการต่อรองเงินเดือน สำหรับวิศวกร ให้ได้ตัวเลขที่ต้องการ

การพัฒนาตัวเอง

5 เทคนิคการ ต่อรองเงินเดือน สำหรับวิศวกร ให้ได้ตัวเลขที่ต้องการ - EngineerJob

ต้องยอมรับว่าคนที่ทำงานรับเงินเดือนอย่างเราๆ แบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ทำงานเพื่อ Passion (ฝันอยากทำแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก) และทำงานเพื่อเงิน ซึ่งไม่มีประเภทไหนถูก และประเภทไหนผิด แถมยังปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วิศวกรที่ตำแหน่งสูงๆ เงินเดือนเยอะๆ ก็ยังมีคนทั้ง 2 ประเภทนี้ ดังนั้น หากคุณเป็นคนที่กำลังทำงานที่ไม่ได้ชอบมาก แต่ก็ไม่ได้แย่ แต่ก็ไม่ได้มี Passion ขนาดนั้น คุณไม่ต้องรู้สึกผิด รู้สึกแย่ หรือรู้สึกอะไรทั้งนั้น เพราะนี่แหละคือชีวิต.. แต่คำถามคือ คุณจะมีความสามารถใน การ ต่อรองเงินเดือน ให้ได้จำนวนตัวเลขที่คู่ควรกับความสามารถของคุณได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นงานที่คุณมี Passion หรือไม่ก็ตาม

ความจริงคือ เงินเดือนที่ได้ มักจะขึ้นอยู่กับ “ความสามารถ” และความเป็น Professional ในสายงานเป็นหลัก วิศวกรที่ทำงานตาม Passion ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เงินเดือนดีกว่าคนที่ไม่ได้ทำงานตาม Passion ในขณะเดียวกัน การทำงานเพื่อเงินอย่างเดียว ก็ใช่ว่าจะทำให้คุณได้เงินเดือนมากตามที่คุณต้องการ มันเลยมีเทคนิคในการต่อรองเงินเดือนอยู่ เพื่อให้พวกเราได้เงินเดือนตามตัวเลขที่เราต้องการ และเป็นตัวเลขที่เหมาะสมกับความสามารถของเรา

หนึ่งสิ่งที่คุณต้องมี และเป็น Key สำคัญที่สุดใน การ ต่อรองเงินเดือน คือ “Confidence” หรือความมั่นใจ และความเชื่อในความสามารถของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในด้าน Hard Skills และ Soft Skills วันนี้เราเลยจะมาแชร์เทคนิคในการสร้างความมั่นใจก่อนทำการต่อรองเงินเดือนกัน

5 สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนเริ่ม การ ต่อรองเงินเดือน

1. เริ่มด้วยการคิดให้ใหญ่

หลายครั้งที่เราชอบคิดว่าตัวเองไม่น่าจะเก่งพอ ไม่น่าจะรับมือกับงานที่ใหญ่กว่านี้ได้ดี ซึ่งถ้าคุณเป็นแบบนี้ และไม่มี “แรงกระตุ้น” มันก็อาจจะส่งผลให้คุณทำงานอยู่ที่เดิมได้ เพราะคุณกำลังลดความสำคัญของตัวเองในบริษัท หรือในหน้าที่

คนที่มี “แรงกระตุ้น” ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัวที่ต้องดูแล ความท้าทายในตัวงาน Passion การที่เคยโดนดูหมิ่นมาก่อน ความฝันที่ตัวเองได้วางไว้ รถคันใหม่ที่อยากได้ บ้านหลังใหม่ หรือจะเป็นการเก็บเงินก้อนไปลงทุนในธุรกิจ เป็นต้น แรงกระตุ้นเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยในการผลักดันให้คิดใหญ่ และตั้งเป้าหมายใหญ่

ลองนึกดูว่าในวันที่คุณนั่งกับเจ้านาย หรือฝ่าย HR เพื่อต่อรองเงินเดือน แล้วในหัวของคุณยังคิดว่า เราไม่เก่งพอมั้ง เราทำไม่ได้หรอก คุณก็จะไม่มีอะไรไปแสดงให้ที่บริษัทเห็นว่าคุณคู่ควรกับเงินเดือนที่สูงขึ้นได้เลย

2. หาข้อมูลให้แน่น

เมื่อคุณเริ่มคิดใหญ่ เริ่มมีไฟ ที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจในตัวเองแล้ว คุณยังต้องหาข้อมูลให้เยอะด้วย เพื่อให้รู้ว่าความสามารถของคุณควรจะได้ค่าตอบแทนที่เท่าไหร่ หรือหากต้องการเงินเดือนที่สูงขึ้น คุณควรขอปรับตำแหน่ง หรือเสนอการเพิ่มความรับผิดชอบในงานของคุณได้อย่างไร

จุดนี้เป็นจุดที่หลายคนพลาด คืออยู่ดีๆ ก็คิดตัวเลขขึ้นมาเลย เช่น เดิมได้เงินเดือน 40,000 บาทต่อเดือน ก็คิดไปเลยว่าควรได้ 60,000 บาท โดยที่ไม่ได้ลองดูเลยว่า จริงๆ ตำแหน่งที่คุณทำอยู่ ค่าตอบแทน 40,000 อาจเป็นตัวเลขที่สูงแล้วก็ได้ ซึ่งหากเป็นแบบนี้ คุณก็จำเป็นที่จะต้องหาวิธีเลื่อนตำแหน่ง หรือเสนอความรับผิดชอบในการที่มากขึ้น เพื่อให้บริษัทเห็น “คุณค่า” ของคุณ ซึ่งคุณต้องมีความสามารถนั้นจริงๆ นะ เพราะถ้าได้รับข้อตกลงแล้ว ไปทำงานไม่เป็น อาจจะกลายเป็นผลลบ

3. หาตัวเลขมาสนับสนุนการต่อรอง

ถ้าการทำงานที่ผ่านมา คุณได้มีผลงานต่างๆ ที่วัดออกมาเป็นตัวเลข และโยงตัวเลขนั้นไปเป็นเงินได้ ให้นำมาใส่ใน Resume เพื่อใช้ในการต่อรองเงินเดือน เช่น ที่ผ่านมาเคยบริหารโครงการตรงตามเวลาที่กำหนด โดยได้ลดค่าใช้จ่ายได้สูงถึง 1,000,000 บาท ทางบริษัทก็จะเริ่มเห็นแล้วว่า การจ้างคุณในเงินเดือนเท่านี้ จะช่วยให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นเท่าไหร่

ถ้างานที่คุณทำตอนนี้เป็นฝั่ง Support ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเลขโดยตรง ก็ไม่มีปัญหา ลองบอกก็ได้ว่า ในการสนับสนุนของคุณใน Project นั้น ที่ลดค่าใช้จ่ายไป 1,000,000 บาท คุณได้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร สนับสนุนอะไร ช่วยแก้ปัญหาอะไรไปบ้าง ซึ่งขอย้ำว่าต้องเป็นสิ่งที่คุณทำได้จริงนะ

4. เพิ่มความสามารถให้ตัวเอง

บางครั้งคุณอาจไม่ต้องรอให้บริษัทส่งไปเข้าคอร์สอบรมอย่างเดียวก็ได้ หากคุณเจออะไรที่น่าสนใจ ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับสายงานโดยตรง และคิดว่าจะเพิ่มคุณค่าให้ตัวเองได้ก็ลุยเลย เพราะมันจะช่วยคุณเปิดโลกให้กว้างขึ้น มองกว้างขึ้น บางครั้งอาจทำให้คุณมี Vision ที่กว้างขึ้น สร้างความประทับใจระหว่างการคุยต่อรองเงินเดือนก็เป็นได้

แต่ถ้าเป็นคอร์สอะไรที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรง ก็ควรลองดูอย่างยิ่ง เพื่อเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะพอยืนยันได้ว่า คุณสนใจเรื่องนี้จริงๆ และพร้อมที่จะลองลงมือทำงานที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้จริงๆ

5. ซ้อมพูดกับตัวเองบ่อยๆ

เมื่อคุณพร้อมที่จะต่อรองเงินเดือนแล้ว สิ่งที่สำคัญคือต้องซ้อมให้ดี บางคนอาจจะประหม่าได้ในระหว่างต่อรองเงินเดือน เพราะไม่รู้ว่าอีกฝ่ายจะตอบมาว่าอะไร ดังนั้น เขียนประโยคที่จะพูดเอาไว้เลยก็ได้ ซ้อมพูดบ่อยๆ ให้ชิน และลองคิดดูว่า ถ้าเค้าตอบมาแบบนี้ เราจะตอบกลับไปว่าอะไร ถ้าเค้าไม่ให้ แล้วเราจะทำอย่างไร การเตรียมตัวที่ดีจะช่วยเป็น Check List ให้ตัวเองด้วยว่ายังขาดข้อมูลอะไร และต้องหาข้อมูลอะไรเพิ่มเพื่อสนับสนุนการขอเพิ่มเงินเดือน

การ ต่อรองเงินเดือน ไม่ว่าจะเป็นการต่อรองในบริษัทเดิม หรือบริษัทใหม่ ทั้ง 5 เทคนิคนี้จำเป็นต้องใช้เวลา และการเตรียมตัวที่ดี ขอให้เพื่อนๆ วิศวกรทุกคนมีความสุขกับงาน และได้เงินมากขึ้นตามความสามารถนะครับ

Leave a Reply

Required fields are marked *